ลำดับที่  329. พ่องจุหื้อได้   พ่องไก๊หื้อเสียอ่าน  (-พ่อง-จุ-หื้อ-ได้///พ่อง-ไก๊-หื้อ-เสีย-)

หมายถึง.....บ้างหวังดีคอยสนับสนุนให้พบสิ่งดีงามแต่บางคนก็ประสงค์ร้ายหลอกล่อให้เสียผลประโยชน์

กำบ่าเก่าจึงว่า    “พ่องจุหื้อได้   พ่องไก๊หื้อเสีย” 

การนำไปใช้        พิจารณาคำแนะนำว่ามีผลดีหรือร้ายกับเรา

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “ยุให้รำตำให้รั่ว///ยุแยงตะแคงรั่ว”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “บ้างหวังดีมากมาย  บางพวกก็นำเรื่องร้ายมาให้”

ลำดับที่  330. “พระจันทร์อยู่ฟ้า   เป๋นเหยื่อราหู   ปล๋าเยี่ยนอยู่ฮู  ยังต๋ายถูกส้อม”

(-พระ-จั๋น-หยู่-ฟ้า///เป๋น-เหยื่อ-รา-หู///ป๋า-เยี่ยน-หยู่-ฮู///ยัง-ต๋าย-ถูก-ส้อม-)

หมายถึง.....ความไม่แน่นอนในการดำเนินชีวิตย่อมเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องธรรมดา 

กำบ่าเก่าจึงว่า    “พระจันทร์อยู่ฟ้า เป๋นเหยื่อราหู   ปล๋าเยี่ยนอยู่ฮู    ยังต๋ายถูกส้อม”

การนำไปใช้     ต้องทำใจยอมรับสิ่งที่ไม่ได้ตามคาดหวังในชีวิต   ค่อยๆใช้สติปัญญาแก้ปัญหา

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “ดวงจันทร์บนฟ้า    โดนราหูอม  ปลาไหลในตม  โดนแทงด้วยส้อม

ลำดับที่  331. พ่องอยู่ตางลุ่มไห้    บ่ดีอยู่บนต้นไม้ใคร่หัว

อ่าน  (-พ่อง-หยู่-ตาง-ลุ่ม-ไห้///บ่อ-ดี-หยู่-บน-ต้น-ไม้-ใค่-หัว-)

หมายถึง.....เมื่อประสบความเจริญก้าวหน้าในชีวิต  พบผู้ประสบเคราะห์กรรมอย่าซ้ำเติมหรือดูถูก

กำบ่าเก่าจึงว่า     “พ่องอยู่ตางลุ่มไห้   บ่ดีอยู่บนต้นไม้ใคร่หัว”

การนำไปใช้ให้    ควรมีความเมตตากรุณา   ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีความทุกข์ยาก ผู้ประสบเคราะห์กรรม

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “คนล้มอย่าข้าม”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง    “ข้างล่างยังร้องไห้  อย่าอยู่บนต้นไม้หัวเราะ”

ลำดับที่  332. “พระเจ้าวัดตั๋วบ่ไหว้    ไปไหว้พระเจ้าวัดอื่น”

อ่าน  (-พระ-เจ้า-วัด-ตั๋ว-บ่อ-ไหว้///ไป-ไหว้-พระ-เจ้า-วัด-อื่น-)

หมายถึง.....เห็นความสำคัญหรือไปเคารพนบนอบผู้อื่นมากกว่าบิดามารดา  ปู่ย่า  ตายาย  ผู้เลี้ยงตนเองมา

กลับไปให้ความเคารพนบนอบกับผู้มีอำนาจ  คนร่ำรวย

กำบ่าเก่าจึงว่า     “พระเจ้าวัดตั๋วบ่ไหว้  ไปไหว้พระเจ้าวัดอื่น” 

การนำไปใช้   อย่าลืมผู้มีพระคุณ บิดา  มารดา 

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “เห็นขี้ดีกว่าไส้”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง    “พระพุทธรูปวัดตนไม่กราย  ไปกราบพระในวัดบ้านอื่น”

ลำดับที่  333. “ฟ้าฮ้องก่อนฝน” อ่าน (-ฟ้า-ฮ้อง-ก่อน-ฝน-)

ลำดับที่  334. “ฟ้าฮ้องฝนบ่ตก” อ่าน (-ฟ้า-ฮ้อง-ฝน-บ่อ-ตก-)

หมายถึง.....โอ้อวดสรรพคุณตนเองทั้งๆที่ยังไม่ได้ลงมือกระทำ หรือทำไม่ได้ตามคำพูด       

กำบ่าเก่าจึงว่า      “ฟ้าฮ้องก่อนฝน”    “ฟ้าฮ้องฝนบ่ตก”    

การนำไปใช้        อย่าเป็นคนขี้โม้โอ้อวดตนเอง

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “ท่าดีทีเหลว///เงื้อง่าราคาแพง”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง “ฟ้าร้องก่อนฝน”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง “ฟ้าร้องแต่ไร้ฝน”

 ลำดับที่  335. “ฟ้อนบ่จ้าง  ติแผ่นดินบ่เปียง”อ่าน  (-ฟ้อน-บ่อ-จ้าง///ติ-แผ่น-ดิน-บ่อ-เปียง-)

หมายถึง....คนที่ชอบโยนความผิดให้ผู้อื่นเมื่อตนผิดพลาด 

กำบ่าเก่าจึงว่า   “ฟ้อนบ่จ้าง  ติแผ่นดินบ่เปียง”

การนำไปใช้      อย่าเป็นคนชอบแก้ตัว หรือโทษโน่นโทษนี่  ไม่ยอมรับความผิดพลาดของตนเอง

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “ร่ายรำไม่ถูกท่า  อ้างว่าแผ่นดินไม่เรียบ 

ลำดับที่  336. ฟังกำเล่า   บ่เต้าต๋าหัน  นอนหลับฝันหัน  บ่ควรดีเจื้อ

อ่าน  (-ฟัง-กำ-เล่า///บ่อ-เต้า-ต๋า-หัน///นอน-หลับ-ฝัน-หัน///บ่อ-ควน-ดี-เจื้อ-)

หมายถึง…. อย่าเพิ่งเชื่อถือ คำเล่าลือ  ถ้าไม่ได้เห็นด้วยตาตนเอง 

กำบ่าเก่าจึงว่า    “ฟังกำเล่าบ่เต้าต๋าหัน  นอนหลับฝันหัน   บ่ควรดีเจื้อ ” 

การนำไปใช้       ถ้าไม่ได้เห็นกับตาตนเองก็อย่าเพิ่งเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น ///ฟังหูไว้หู”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “ฟังเรื่องเล่ามา  ไม่เท่าตาเห็น  อย่าเชื่อว่าเป็น   ดังตอนหลับฝัน  ”

ลำดับที่  337. “ฟังกำเมีย  จั่งเสียปี้น้อง  ฟังกำปากกำป๊อง  จั่งเสียเปื้อนบ้าน”

อ่าน  (-ฟัง-กำ-เมีย///จั่ง-เสีย-ปี้-น้อง///ฟัง-กำ-ปาก-กำ-ป๊อง///จั่ง-เสีย-เปื้อน-บ้าน-)

หมายถึง....อย่าตัดสินใจเชื่อเพราะเป็นคนใกล้ชิดตนเอง   ควรสอบถามผู้เกี่ยวข้องให้กระจ่างเสียก่อน      

กำบ่าเก่าจึงว่า      “ฟังกำเมีย    จั่งเสียปี้น้อง    ฟังกำปากกำป๊อง   จั่งเสียเปื้อนบ้าน”          

การนำไปใช้         ให้พิจารณาเรื่องต่างๆโดยไม่ฟังความข้างเดียว

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “ฟังหูไว้หู”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “เชื่อภรรยาเกินไป  จะผิดใจญาติมิตร” 

ลำดับที่  338. “ฟังกำหมอเมื่อ   เจื้อกำหมอผี” อ่าน (-ฟัง-กำ-หมอ-เมื่อ///เจื้อ-กำ-หมอ-ผี-)

หมายถึง...คนไม่มีความมั่นใจในตนเอง ขาดที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ไปยึดถือโชคลาง  หมอดู  ไสยศาสตร์

กำบ่าเก่าจึงว่า    “ฟังกำหมอเมื่อ  เจื้อกำหมอผี”  

การนำไปใช้      ควรพิจารณาเรื่องต่างๆด้วยความมีเหตุผล

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “หูเบา”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “หลงเชื่อหมอดู     เชื่อฟังหมอผี”

ลำดับที่  339. ฟังกำหมา  ข้าวเสี้ยงเป๋นก่อง  ฟังกำละอ่อน  คนใหญ่จ้างผิดกั๋น

อ่าน  (-ฟัง-กำ-หมา///ข้าว-เสี้ยง-เป๋น-ก่อง///ฟัง-กำ-หละ-อ่อน///คน-ใหย่-จ้าง-ผิด-กั๋น)

หมายถึง.....อย่าเชื่อคำฟ้องของเด็กจนเกินไป   ควรสอบถามจากทุกฝ่ายให้แน่ใจก่อนจะตัดสินใดๆ     

กำบ่าเก่าจึงว่า     “ฟังกำหมา  ข้าวเสี้ยงเป๋นกล่อง  ฟังกำละอ่อน   คนใหญ่จ้างผิดกั๋น”

การนำไปใช้       ไม่ควรเชื่อคำฟ้องของเด็กจนเกินไป ถ้าไม่สืบสาวราวเรื่องให้ดีผู้ใหญ่จะทะเลาะกัน

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “คบเด็กสร้างบ้าน”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “ข้าวหมดเพราะสุนัขตะกละ   ผู้ใหญ่มุ่งเอาชนะเพราะเชื่อเด็กเกินไป

ลำดับที่  340. “ฟั่งได้บ่ดีเอา เผาไหม้บ่ดีกิ๋น”

อ่าน (-ฟั่ง-ได้-บ่อ-ดี-เอา///เผา-ไหม้-บ่อ-ดี-กิ๋น-)

หมายถึง.....ทำอะไรรีบเร่งจนเกินไปไม่ดี  หรือเร่งรีบรับมาโดยไม่คิดให้ละเอียดรอบคอบ

 กำบ่าเก่าจึงว่า    “ฟั่งได้บ่ดีเอา เผาไหม้บ่ดีกิ๋น”

การนำไปใช้       อย่าทำสิ่งใดด้วยความรีบเร่งจนเกินไป

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง    “สุกเอาเผากิน///ใจเร็วด่วนได้”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “อย่ารีบรับเพราะเห็นแก่ได้  เนื้อเผาไหม้อย่าทาน

ลำดับที่  341. “ไฟในอย่านำออก  ไฟนอกอย่านำเข้า  มันจ้างเอ่าไหม้ทีลูน”

อ่าน (-ไฟ-ใน-หย่า-นำ-ออก///ไฟ-นอก-หย่า-นำ-เข้า///มัน-จ้าง-เอ่า-ไหม้-ที-ลูน-)

หมายถึง.....อย่านำเรื่องขัดแย้งในครอบครัวออกไปพัวพันเรื่องข้างนอกให้เดือดร้อนวุ่นวาย หรือนำเรื่องวุ่นวายข้างนอกเข้ามาให้คนในครอบครัวเดือดร้อน

กำบ่าเก่าจึงว่า    “ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า มันจ้างเอ่าไหม้ทีลูน”  

การนำไปใช้       อย่าก่อเรื่องให้ครอบครัวต้องพบความเดือดร้อน

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “ไฟในอย่าออก  ไฟนอกอย่าเข้า  มันจะแผดเผา  ลุกไหม้ทีหลัง  ”

ลำดับที่  342. “ไฟจะดับ   เอาขี้ฝอยมาจอบ   ไฟจะมอด  เอาขี้ฝอยมาถม”

อ่าน  (-ไฟ-จะ-ดับ///เอา-ขี้-ฝอย-มา-จอบ///ไฟ-จะ-มอด///เอา-ขี้-ฝอย-มา-ถม-)

หมายถึง....เรื่องกำลังจะยุติด้วยดีแล้ว    กลับนำมายุแหย่ให้เกิดการขัดแย้งลุกลามขึ้นมาอีก   

กำบ่าเก่าจึงว่า     “ไฟจะดับเอาขี้ฝอยมาจอบ   ไฟจะมอดเอาขี้ฝอยมาถม” 

การนำไปใช้       อย่ายุแยงให้เรื่องยืดเยื้อ  เกิดการเดือดร้อนขึ้นมาอีก

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “เอาน้ำมันไปราดกองไฟ///ยุให้รำตำให้รั่ว”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “ไฟกำลังจะดับเอาขี้ฝอยมาใส่ ไฟไม่ลุกไหม้เอาขี้ฝอยมาเติม