ลำดับที่  235. “นกขี้ไหนใส่แฮ้วหั้น”   อ่าน  (-นก-ขี้-ไหน-ใส่-แฮ้ว-หั้น-)

หมายถึง.....รู้วิธี มีเทคนิคที่จะหาประโยชน์โดยอาศัยประสบการณ์

กำบ่าเก่าจึงว่า   “นกขี้ไหนใส่แฮ้วหั้น”      

การนำไปใช้      คอยสังเกตสภาพแวดล้อมในชีวิตเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ 

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “รู้เขารู้เรา ”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “นกขี้ไหนใส่แร้วที่นั่น” (ขี้นกตกอยู่   นกน่าจะนอนแถวนั้น )

ลำดับที่  236.  “น้องเป๋นบุปผามาลาดอกไม้    ไก๋ษรเกาแก้วมณฑา  เผิ้งปู้มิ้นหากบินมาหา 

บ่ใจ้มาลาเซาะหาปู้เผิ้ง”  อ่าน (-น้อง-เป๋น-บุบ-ผา-มา-ลา-ดอก-ไม้//ไก๋-สอน-เกา-แก้ว-มน-ทา///

เผิ้ง-ปู้-มิ้น-หาก-บิน-มา-หา///บ่อ-ใจ้-มา-ลา-เซาะ-หา-ปู้-เผิ้ง-)

หมายถึง.....เป็นผู้หญิงอย่าไปเที่ยวเสาะหาผู้ชาย ผู้ชายต่างหากที่ต้องเป็นฝ่ายเสาะหาผู้หญิง

กำบ่าเก่าจึงว่า  “น้องเป๋นบุปผา  มาลาดอกไม้  ไก๋ษรเกาแก้ว  มณฑา เผิ้งปู้มิ้น  หากบินมาหา 

บ่ใจ้มาลา  เซาะหาปู้เผิ้ง”  การนำไปใช้    ควรรักศักดิ์ศรีของผู้หญิง  ทำตัวสมกุลสตรี

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “รักนวลสงวนตัว”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “น้องเปรียบดอกไม้ ผึ้งมิ้นจะบินมาหา  ไม่ใช่ดอกไม้เสาะหาผึ้งมิ้น ”

ลำดับที่  237. “นกจะหนีห่มคอน”  อ่าน   (-นก-จะ-หนี-ห่ม-คอน-)

หมายถึง.....คนอกตัญญู มาพึ่งพาอาศัยแต่ไม่รู้คุณ ให้ร้ายผู้มีพระคุณ

กำบ่าเก่าจึงว่า    “นกจะหนีห่มคอน”      

การนำไปใช้       ให้รู้จักบุญคุณของสิ่งของหรือผู้คน อย่าเป็นคนอกตัญญู

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “กินบนเรือนขี้บนหลังคา”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “นกจะบินหนีขย่มคอนเคยเกาะ”

 

 

ลำดับที่  238. “นกบ่บิน   จะไปก๋ำปีกมันอ้า   งัวควายบ่กิ๋นหญ้า     จะไปเต็กเขามันลง”

อ่าน  (-นก-บ่อ-บิน//จะ-ไป-ก๋ำ-ปีก-มัน-อ้า//งัว-ควาย-บ่อ-กิ๋น-หญ้า//จะ-ไป-เต็ก-เขา-มัน-ลง)

หมายถึง......เรื่องความรักชอบความพึงพอใจบังคับกันไม่ได้ 

กำบ่าเก่าจึงว่า     “นกบ่บิน จะไปก๋ำปีกมันอ้า งัวควายบ่กิ๋นหญ้า   จะไปเต็กเขามันลง”   

การนำไปใช้       อย่าบังคับผู้อื่นทำในสิ่งที่เขาไม่ชอบ

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “ข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง “นกไม่ยอมบิน  อย่าจับปีกกางอ้า  วัวควายไม่กินหญ้า  อย่าข่มเขามันลง”

ลำดับที่  239. “นกสองหัวงัวสองหนอก”  อ่าน (-นก-สอง-หัว-งัว-สอง-หนอก-)

หมายถึง.....ทำตัวเข้าได้ทั้งสองฝ่าย แอบนำความลับฝ่ายหนึ่งไปยุแยงอีกฝ่ายให้เคืองใจกัน

กำบ่าเก่าจึงว่า    “นกสองหัว  งัวสองหนอก”    

การนำไปใช้      อย่าเป็นคนตลบดะแลงปลิ้นปล้อน

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “นกสองหัว ///หมาสองราง” 

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “นกสองหัว  วัวสองหนอก”

ลำดับที่  240. “นกหน้อยขี้หน้อย”  อ่าน  (-นก-หน้อย-ขี้-หน้อย-”)

หมายถึง.....คนเจียมเนื้อเจียมตัว ทำตามกำลังความสามารถที่มีอยู่

กำบ่าเก่าจึงว่า “นกหน้อยขี้หน้อย”   

การนำไปใช้   รู้ประมาณตนเอง     ดำรงชีวิตแบบพอเพียง

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “นกน้อยทำรังแต่พอตัว///เจียมตัว”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “นกตัวน้อยขี้ก้อนเล็ก”

ลำดับที่  241. “นอนลุกอย่าตื๊บฟาก”  อ่าน (-นอน-ลุก-อย่า-ตื๊บ-ฟาก-)

หมายถึง.....อย่าอกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ

กำบ่าเก่าจึงว่า     “นอนลุกอย่าตื๊บฟาก” 

การนำไปใช้       ควรมีความสำนึกในบุญคุณไม่ว่าผู้คนหรือสิ่งของ

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง    “กินบนเรือนขี้บนหลังคา”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “นอนลุกอย่ากระทืบฟาก(ที่ตนเองเคยนอน)”

 

 

 

 

ลำดับที่  242. “นอนสูงหื้อนอนคว่ำ   นอนต่ำหื้อนอนหงาย”

อ่าน  (-นอน-สูง-หื้อ-นอน-คว่ำ///นอน-ต่ำ-หื้อ-นอน-หงาย-)

หมายถึง.....เป็นผู้ใหญ่ให้ดูแลผู้น้อย  เป็นผู้น้อยต้องให้เชื่อฟังมีความเคารพนบนอบผู้ใหญ่

กำบ่าเก่าจึงว่า     “นอนสูงหื้อนอนคว่ำ   นอนต่ำหื้อนอนหงาย”   

การนำไปใช้       เป็นนายให้ดูแลลูกน้อง  เป็นลูกน้องให้ฟังนาย 

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “นอนสูงให้นอนคว่ำ   นอนต่ำให้นอนหงาย”

ลำดับที่  243. “นาดีเปิ้นบ่ละเป๋นฮ้าง”  อ่าน (-นา-ดี-เปิ้น-บ่อ-ละ-เป๋น-ฮ้าง-)

หมายถึง.....สิ่งใดยังมีผลประโยชน์แฝงอยู่ย่อมไม่ถูกทอดทิ้ง   

กำบ่าเก่าจึงว่า     “นาดี  เปิ้นบ่ละเป๋นฮ้าง

การนำไปใช้       สำรวจทรัพย์สมบัติของตนเองที่มี  เพื่อจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “ไร่นาอุดมสมบูรณ์  เขาคงไม่ปล่อยทิ้งร้าง”

ลำดับที่  244. “น้ำขุ่นเอาไว้ตางใน   น้ำใสเอาไว้ตางนอก”

อ่าน  (-น้ำ-ขุ่น-เอา-ไว้-ตาง-ใน///น้ำ-ใส-เอา-ไว้-ตาง-นอก-)

หมายถึง.....การให้อภัยทำให้ความขัดแย้งไม่ลุกลาม ยืดเยื้อต่อไปอีก

กำบ่าเก่าจึงว่า     “น้ำขุ่นเอาไว้ตางใน   น้ำใสเอาไว้ตางนอก”  

การนำไปใช้        ให้อภัยซึ่งกันและกัน

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “น้ำขุ่นไว้ใน  น้ำใสไว้นอก”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “น้ำขุ่นไว้ใน น้ำใสไว้นอก”

ลำดับที่ 245. “น้ำตึงแม่เอาเข้าต๊องตั๋วคนเดียว”

อ่าน  (-น้ำ-ตึง-แม่-เอา-เข้า-ต๊อง-ตั๋ว-คน-เดียว-)

หมายถึง.....คนโลภมาก ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้ใด

กำบ่าเก่าจึงว่า    “น้ำตึงแม่เอาเข้าต๊องตั๋วคนเดียว”         

การนำไปใช้       อย่าเป็นคนเห็นแก่ตัว ควรรู้จักการแบ่งปันผู้อื่น

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “ขี้ไม่ให้หมากิน”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “แม่น้ำทั้งสาย  หมายใช้ผู้เดียว”

 

 

 

ลำดับที่  246. “น้ำไหนเย็นปล๋าไหลข้อน  น้ำไหนฮ้อนปล๋าป้ายไปตี้อื่น”

อ่าน (-น้ำ-ไหน-เย็น-ป๋า-ไหล-ข้อน///น้ำ-ไหน-ฮ้อน-ป๋า-ป้าย-ไป-ตี้-อื่น-)

หมายถึง.....สถานที่มีความสุขใจสบายกาย สรรพสัตว์ทั้งหลายรวมทั้งคนย่อมอยากเข้ามาอาศัย

กำบ่าเก่าจึงว่า     “น้ำไหนเย็นปล๋าไหลข้อน  น้ำไหนฮ้อนปล๋าป้ายไปตี้อื่น”  

การนำไปใช้        ช่วยกันดูแลสังคมที่ตนเองอยู่อาศัยให้มีความสงบเพื่อจะได้อยู่กันนานๆ

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง    “”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “น้ำที่เย็นปลามาชุมนุม  น้ำไหนร้อนปลาหนีไปที่อื่น”

ลำดับที่  247.  “น้ำเต๋มบอกครอก   ต้อกบ่ดัง”  อ่าน (-น้ำ-เต็ม-บอก-คอก///ต้อก-บ่อ-ดัง-)

หมายถึง.....คนมีปัญญา  คนฉลาดหลักแหลม   มักไม่โอ้อวดตน หรือใส่ใจในถ้อยคำยุแยง  

กำบ่าเก่าจึงว่า      “น้ำเต๋มบอกครอก    ต้อกบ่ดัง" 

การนำไปใช้         อย่าใส่ใจต่อคำส่อเสียด  ยุแยงของผู้อื่น

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “ยุไม่ขึ้น”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “กระบอกไม้น้ำเต็ม  จับกระแทกไม่มีเสียง”(บอกครอก//กระบอกไม้ไผ่)