ลำดับที่  248. “บ่กิ๋นก็ปาก บ่อยากก็ใจ๋  หมั่นดักก็ไซ  หมั่นใจก็แฮ้ว”

อ่าน  (-บ่อ-กิ๋น-ก่อ-ปาก///บ่อ-หยาก-ก่อ-ใจ๋///หมั่น-ดัก-ก่อ-ไซ///หมั่น-ใจ-ก่อ-แฮ้ว-)

หมายถึง.....ไม่อาจตัดอกตัดใจทอดทิ้งไปได้  ยังมีความอยาก  ความต้องการในสิ่งต่างๆอยู่  

กำบ่าเก่าจึงว่า      “บ่กิ๋นก็ปาก   บ่อยากก็ใจ๋   หมั่นดักก็ไซ   หมั่นใจก็แฮ้ว”

การนำไปใช้        รู้ปล่อยวาง   อย่ายึดติด    เพื่อตนเองจะได้พบความสุขในชีวิต  

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “ห่วงหาอาวรณ์”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “ไม่กินก็ปาก(มีความหิวโหย)  ไม่อยากก็ใจ (ใจห่วงหา) ดักบ่อยก็ไซ  (นำไซไปดักในน้ำอาจได้ปลา) ไปตรวจดูบ่อยๆก็แร้ว(อาจมีนกมาติดบ่วงแร้ว)”

ลำดับที่  249. “บ่กิ๋นผักบ่มีเหยื้อต๊อง   คนบ่เอาปี้เอาน้อง    เสียหน่อเสียแนว”

อ่าน  (-บ่อ-กิ๋น-ผัก- บ่อ-มี-เหยื้อ-ต๊อง///คน-บ่อ-เอา-ปี้-เอา-น้อง///เสีย-หน่อ-เสีย-แนว-)

หมายถึง…..คนที่ไม่เอาใจใส่  ไม่ช่วยเหลือ  ไม่ไต่ถามสารทุกข์สุขดิบของญาติพี่น้อง  เป็นคนใช้ไม่ได้

กำบ่าเก่าจึงว่า      “บ่กิ๋นผัก บ่มีเหยื้อต๊อง  คนบ่เอาปี้เอาน้อง เสียหน่อเสียแนว”  

การนำไปใช้        ให้ดูแลเอาใจในทุกข์สุขของญาติพี่น้อง 

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “เลือดข้นกว่าน้ำ”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “ไม่กินพืชผักไร้กากอาหาร  คนไม่สนใจทุกข์สุขญาติเป็นคนใช้ไม่ได้ 

 

 

ลำดับที่ 250. “บ่ใคร่จ่ายเงินนัก  หื้อปลูกผักไว้กิ๋น  ถ้าใคร่เป๋นหนี้เป๋นสิน  หื้อเอาตึงแปะตึงยืม”

อ่าน(-บ่อ-ใค่-จ่าย-เงิน-นัก/หื้อ-หมั่น-ปูก-ผัก-ไว้-กิ๋น/ถ้า-ใค่-เป๋น-หนี้-เป๋น-สิน/หื้อ-เอา-ตึง-แปะ-ตึง-ยืม-)

หมายถึง.....อยากประหยัดค่าใช้จ่ายควรพึ่งตนเองในทางที่ทำได้ (ทำสวนผัก/เลี้ยงสัตว์) ส่วนการไปซื้อเชื่อหรือยืมเงินคนอื่นมาใช้   ทำให้เป็นหนี้สินรุงรัง       

กำบ่าเก่าจึงว่า     “บ่ใคร่จ่ายเงินนัก   หื้อปลูกผักไว้กิ๋น   ถ้าใคร่เป๋นหนี้เป๋นสิน  หื้อเอาตึงแปะตึงยืม” 

การนำไปใช้       ควรประหยัดถ้าไปก่อหนี้ครอบครัวจะลำบาก

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “การก่อหนี้เป็นทุกข์ในโลก”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลางไม่อยากเปลืองเงิน ปลูกผักไว้กิน อยากเป็นหนี้สิน   ให้เชื่อให้ยืม” 

ลำดับที่  251. “บุบหมา  ผ่อหน้าเจ้า”  อ่าน (-บุบ-หมา-ผ่อ-หน้า-เจ้า-)

หมายถึง.....การละเมิดทรัพย์สินของผู้อื่นควรเกรงใจเจ้าของ 

กำบ่าเก่าจึงว่า     “บุบหมา    ผ่อหน้าเจ้า”

การนำไปใช้       อย่าละเมิด  ล่วงเกิน  หรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้อื่น

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “จะตีหมา   ให้ดูหน้าเจ้าของ”

ลำดับที่  252. “บ่ดีกิ๋นของสังฆะ    บ่ดีละกำป้อแม่” 

อ่าน (-บ่อ-ดี-กิ๋น-ของ-สัง-คะ///บ่อ-ดี-ละ-กำ-ป้อ-แม่-)

หมายถึง.....อย่าทานอาหารที่มีคนนำมาถวายพระสงฆ์ และคำสั่งสอนของบิดามารดาให้ยึดถือไว้ประจำใจ

 กำบ่าเก่าจึงว่า     “บ่ดีกิ๋นของสังฆะ     บ่ดีละกำป้อแม่”

การนำไปใช้         อย่าละเมิดของพระสงฆ์   และต้องเชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง    “อย่าทานอาหารพระ  ไม่ละลืมคำสอนพ่อแม่”

ลำดับที่  253. “บ่หันส้มน้ำลายบ่ปุ๊”  อ่าน (-บ่อ-หัน-ส้ม///น้ำ-ลาย-บ่อ-ปุ๊-)

หมายถึง.....ไม่ทราบว่าจะได้รับผลประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่  ทำให้ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน

กำบ่าเก่าจึงว่า     “บ่หันส้มน้ำลายบ่ปุ๊”   

การนำไปใช้        ควรจูงใจด้วยการบอกผลประโยชน์ตอบแทนให้ทราบ

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง     “”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง    “ไม่เห็นผลไม้รสเปรี้ยว  น้ำลายไม่กระฉอก”

 

 

 

ลำดับที่ 254.“บ่ได้จิ้นบ่ฟัน บ่ได้สันบ่ลาบ”  อ่าน(-บ่อ-ได้-จิ๊น-บ่อ-ฟัน///บ่อ-ได้-สัน-บ่อ-ลาบ-)

หมายถึง.....มีความตั้งใจแน่วแน่ มีความมุ่งมั่นสูง ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคจนกว่าจะประสบความสำเร็จ        กำบ่าเก่าจึงว่า     “บ่ได้จิ้นบ่ฟัน   บ่ได้สันบ่ลาบ”  

การนำไปใช้       มุ่งมั่นทำงานให้สำเร็จ

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “หมายมั่นปั้นมือ”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “เนื้อไม่สดไม่ฟัน  ไม่ได้เนื้อสัน(เนื้อส่วนที่นิ่ม) ไม่สับให้แผลก”

ลำดับที่  255. บ่ดีกิ๋นก่อนตาน บ่ดีมานก่อนแต่ง

อ่าน (-บ่อ-ดี-กิ๋น-ก่อน-ตาน//บ่อ-ดี-มาน-ก่อน-แต่ง)

หมายถึง.....เป็นหญิงอย่ายินยอมให้ชายมีสัมพันธ์ทางกายต้องผ่านพิธีแต่งงานตามจารีตประเพณีที่ดีงาม

กำบ่าเก่าจึงว่า  “บ่ดีกิ๋นก่อนตาน   บ่ดีมานก่อนแต่ง”  

การนำไปใช้  อาหารที่จะนำไปถวายพระ อย่านำมาทาน และหญิงสาวอย่าให้ชายล่วงเกิน   จนกว่าจะแต่ง

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง    “สุกก่อนห่าม///ไม้งามกระรอกเจาะ”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “อย่ากินก่อนถวายทาน  ต้องแต่งงานก่อนถูกล่วงเกิน

ลำดับที่  256. “บ่ดีอวดสูงกว่าป้อแม่  บ่ดีอวดแก่กว่าอาจารย์”

อ่าน  (-บ่อ-ดี-อวด-สูง-กว่า-ป้อ-แม่///บ่อ-ดี-อวด-แก่-กว่า-อา-จ๋าน-)

หมายถึง.....อย่าอวดฉลาด  อวดมีความรู้มีความสามารถ มีตำแหน่งหน้าที่สูงกว่า บิดา มารดา ครู อาจารย์                กำบ่าเก่าจึงว่า     “บ่ดีอวดสูงกว่าป้อแม่ บ่ดีอวดแก่กว่าอาจารย์”

 การนำไปใช้      ให้เคารพบิดามารดาครูอาจารย์

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “เป็นผู้น้อยค่อยก้มประนมกร///ยกตนข่มท่าน”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “อย่าอวดรู้กว่าครูอาจารย์”

ลำดับที่  257. บ่ดีจ๋าควายกล๋างหนองอ่าน  (-บ่อ-ดี-จ๋า-ควาย-ก๋าง-หนอง-)

หมายถึง.....ถ้าขาดความรู้เรื่องนั้นๆอย่างแท้จริง  หรือไม่มีข้อมูลครบถ้วน   ไม่ควรรีบตกลงในการเจรจา

กำบ่าเก่าจึงว่า    “บ่ดีจ๋าควายกล๋างหนอง”  

การนำไปใช้      ต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนจึงค่อยตัดสินใจ

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง    “รู้งูๆปลาๆ///รู้อย่างเป็ด”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “อย่ารีบซื้อขาย ควายที่แช่น้ำ ”(ไม่เห็นตัว//ซื้อตัวเล็กต้องเสียเปรียบ)

 

 

 

 

ลำดับที่  258.  “บ่ดีจ่อมเบ็ดมาเลี้ยงแขก  แบกหน้าไม้มาเลี้ยงจาวเฮือน”

อ่าน  (-บ่อ-ดี-จ่อม-เบ็ด-มา-เลี้ยง-แขก///แบก-หน้า-ไม้-มา-เลี้ยง-จาว-เฮือน-)

หมายถึง.....ไม่ควรทำเรื่องจวนตัวโดยขาดการเตรียมพร้อม หรือชอบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า 

กำบ่าเก่าจึงว่า      “จะไปจ่อมเบ็ดมาเลี้ยงแขก  แบกหน้าไม้มาเลี้ยงจาวเฮือน” 

การนำไปใช้        ไม่รอแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก   ไม่เห็นกระรอกก่งหน้าไม้”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง “อย่าตกเบ็ดมาเลี้ยงแขก อย่าแบกหน้าไม้เลี้ยงชาวบ้าน”

ลำดับที่  259. บ่ดีละตางหลังเป๋นหย่อมหญ้า   เอาตางหน้าเป๋นหอเป๋นเฮือน

อ่าน     (-บ่อ-ดี-ละ-ตาง-หลัง-เป๋น-หย่อม-หย้า///เอา-ตาง-หน้า-เป๋น-หอ-เป๋น-เฮือน-)

หมายถึง.....อย่าทอดทิ้งลูกเมียให้ลำบาก  ตนเองหนีไปมีครอบครัวใหม่สุขสบายแต่ผู้เดียว    

กำบ่าเก่าจึงว่า     “บ่ดีละตางหลังเป๋นหย่อมหญ้า    เอาตางหน้าเป๋นหอเป๋นเฮือน” 

การนำไปใช้       ให้คิดถึงคนที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุข  ก่อร่างสร้างตัวกันมา

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “ตัดช่องน้อยแต่พอตัว”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “อย่าทิ้งข้างหลังให้เป็นป่าหญ้า  ไปรับข้างหน้าเป็นบ้านเรือน”

ลำดับที่  260. “บ่ดีจู๋งผีไต่ขัว”  อ่าน  (-บ่อ-ดี-จู๋ง-ผี-ไต่-ขัว-)

หมายถึง…..อย่าทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  หรือเกินกำลังความสามารถของตน  

กำบ่าเก่าจึงว่า    “บ่ดีจู๋งผีไต่ขัว”     

การนำไปใช้       อย่าฝืนทำสิ่งที่เกินความสามารถของคนทั่วไปจะทำได้

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “เป็นไปไม่ได้”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “อย่าจูงผีไต่สะพาน  ”

ลำดับที่  261. “บ่ดีเอาลูกนกมาดู    บ่ดีเอาลูกหนูมาเล่น  ขนหล่นไปเส้น    เป๋นเวรเต้าต๋าย”

อ่าน   (-บ่อ-ดี-เอา-ลูก-นก-มา-ดู//บ่อ-ดี-เอา-ลูก-หนู-มา-เล่น//ขน-หล่น-ไป-เส้น//เป๋น-เวน-เต้า-ต๋าย-)

หมายถึง.....ควรมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์  

กำบ่าเก่าจึงว่า    “บ่ดีเอาลูกนกมาดู   บ่ดีเอาลูกหนูมาเล่น    ขนหล่นไปเส้น    เป๋นเวรเต้าต๋าย” 

การนำไปใช้       อย่าเห็นชีวิตสัตว์เป็นของเล่น 

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “กรรมใดใครก่อ  กรรมนั้นย่อมตามสนอง”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง “อย่านำลูกนกลูกหนูมาเล่น ขนหล่นหนึ่งเส้น  เป็นเวรกรรมจนเราตาย ”

 

 

 

ลำดับที่  262. “บ่ตันนั่งจะไปฟั่งเหยียดแข้ง”

 อ่าน  (-บ่อ-ตัน-นั่ง-จะ-ไป-ฟั่ง-เหยียด-แข้ง-)

หมายถึง.....ยังไม่ลงมือทำอย่ารีบคุยโม้โอ้อวดความสำเร็จ

กำบ่าเก่าจึงว่า “บ่ตันนั่งจะไปฟั่งเหยียดแข้ง”          

การนำไปใช้  อย่าโอ้อวดความสำเร็จในผลงาน

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง    “ยกหางตนเอง///หมาขี้ไม่มีใครยกหาง”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “ไม่ทันนั่งอย่ารีบเหยียดแข้ง” (ตามปกติต้องนั่งก่อนจึงจะเหยียดแข้งได้)

ลำดับที่  263. “บ่ดีอู้นัก   ขี้ควายหลามหาง  รถบ่มียาง   เตียวตางบ่ได้”

(-บ่อ-ดี-อู้-นัก-ขี้-ควาย-หลาม-หาง///รถ-บ่อ-มี-ยาง-เตียว-ตาง-บ่อ-ได้)

หมายถึง….อย่าพูดมากความ มากเรื่องจนเกินไป  อาจนำไปขยายความทำให้เข้าใจผิดกันได้

กำบ่าเก่าจึงว่า     “บ่ดีอู้นัก   ขี้ควายหลามหาง  รถบ่มียาง   เตียวตางบ่ได้” 

การนำไปใช้        อย่าพูดมากจนเกินไป   อย่าพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “พูดดีเป็นศรีแก่ปาก ”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “พูดมากดั่งขี้ควายที่เปรอะเต็มหาง   รถไร้ยางแล่นตามทางไม่ได้”

ลำดับที่ 264.“บ่เล่นก็บ่ม่วน  บ่มีค่วนก็บ่มีตี้ไว้ครัว บ่มีผัวก็บ่มีคนร่วมข้าง ใจ๋บ่กว้างปี้น้องบ่หลาย”

อ่าน(-บ่อ-เล่น-ก่อ-บ่อ-ม่วน///บ่อ-มี-ค่วน-ก่อ-บ่อ-มี-ตี้-ไว้-คัว//บ่อ-มี-ผัว-ก่อ-บ่อ-มี-คน-ร่วม-ข้าง///ใจ๋-บ่อ-กว้าง-ปี้-น้อง-บ่อ-หลาย-)

หมายถึง.....ไม่หยอกกันก็ไม่สนุก คนไร้คู่ย่อมอยู่อ้างว้าง คนตระหนี่มักไม่มีใครอยากมาคบ 

กำบ่าเก่าจึงว่า  “บ่เล่นก็บ่ม่วน  บ่มีค่วนก็บ่มีตี้ไว้ครัว  บ่มีผัวก็บ่มีคนร่วมข้าง  ใจ๋บ่กว้างปี้น้องบ่หลาย”               

การนำไปใช้     หยอกล้อกันบ้างเพื่อคลายเครียด  หนุ่มสาวควรหาคู่เคียงข้าง  อยากมีเพื่อนฝูงต้องใจกว้าง

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง “ไม่เล่นหยอกล้อ ไม่สนุกสนาน ไร้หิ้งเพดาน ไม่มีที่ไว้ของ  ขาดสามีไร้คู่เคียงข้าง   ถ้าใจไม่กว้าง  ย่อมขาดญาติมิตร”  (สมัยก่อนบ้านในชนบทจะทำค่วนหรือหิ้งเพดาน   โดยการนำไม้ไผ่มาสานเป็นตาๆติดตั้งไว้เหมือนเพดานบ้าน  ใช้เก็บของ)

ลำดับที่  265. “บ่มีเงินหมื่น   บ่ดีลื่นตุ๊เจ้า   บ่มีไก่เต๋มเล้า   บ่ดีลื่นเจ้าลื่นนาย”

(-บ่อ-มี-เงิน-หมื่น///บ่อ-ดี-ลื่น-ตุ๊-เจ้า///บ่อ-มี-ไก่-เต๋ม-เล้า///บ่อ-ดี-ลื่น-เจ้า-ลื่น-นาย-)

หมายถึง.....อย่าดูถูกคนอื่น ควรดูตนเองเสียก่อน

กำบ่าเก่าจึงว่า    “บ่มีเงินหมื่น  บ่ดีลื่นตุ๊เจ้า บ่มีไก่เต๋มเล้า  บ่ดีลื่นเจ้าลื่นนาย”

การนำไปใช้      ให้ระวังกาย  วาจา  ใจ อย่าดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง “ไม่มีเงินหมื่น อย่าหมิ่นพระสงฆ์เจ้า ไก่ไม่เต็มเล้า อย่าล้อเล่นเจ้านาย”

ลำดับที่  266. “บ่นับตุ๊พระ   หื้อนับผ้าเหลือง   บ่นับต๋อเฟือง   หื้อนับเม็ดข้าว  บ่นับคนหนุ่ม   หื้อนับคนเฒ่า    ตี้ชราแก่ค้าว”

อ่าน  (-บ่อ-นับ-ตุ๊-พระ///หื้อ-นับ-ผ้า-เหลือง///บ่อ-นับ-ต๋อ-เฟือง///หื้อ-นับ-เม็ด-เข้า///

บ่อ-นับ-คน-หนุ่ม///หื้อ-นับ-คน-เถ้า///ตี้-ชะ-รา-แก่-ค้าว-)

หมายถึง…..การพิจารณาให้ลึกซึ้งถึงแก่นแท้ความดีงามที่แฝงอยู่ภายใน ไม่ดูแค่เปลือกนอก 

กำบ่าเก่าจึงว่า      “บ่นับตุ๊พระ    หื้อนับผ้าเหลือง     บ่นับต๋อเฟือง     หื้อนับเม็ดข้าว    บ่นับคนหนุ่ม

หื้อนับคนเฒ่า   ตี้ชราแก่ค้าว”   

การนำไปใช้        ให้พิจารณาลึกเข้าไปถึงคุณค่าที่แฝงอยู่ ไม่ดูแค่เปลือกที่ห่อหุ้ม  หรือรูปกายภายนอก

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “ไม่กราบพระสงฆ์ ให้เคารพผ้าเหลือง  ไม่สนตอฟางเรือง  ควรใส่ใจเมล็ดข้าว ไม่เชื่อคนหนุ่ม  ให้เคารพผู้เฒ่า  ผู้สูงวัยมากความรู้”

ลำดับที่ 267. “บ่มีจ้อนตุ๊กข์ยามกิ๋นแก๋ง  บ่มีเมียแปงตุ๊กข์ยามเจ็บไข้ บ่มีเงินไว้ตุ๊กข์ยามชราโซ”

อ่าน(บ่อ-มี-จ้อน-ตุ๊ก-ยาม-กิ๋น-แก๋ง///บ่อ-มี-เมีย-แปง-ตุ๊ก-ยาม-เจ็บ-ไข้///บ่อ-มี-เงิน-ไว้-

ตุ๊ก-ยาม-ชะ-รา-โซ)

หมายถึง.....ถ้าไร้คู่ยามป่วยไข้ไม่มีคนคอยดูแล วัยหนุ่มสาวไม่ขยันหาเงินออมไว้  ย่างวัยชราจะลำบาก 

กำบ่าเก่าจึงว่า  “บ่มีจ้อน  ตุ๊กข์ยามกิ๋นแก๋ง บ่มีเมียแปง ตุ๊กข์ยามเจ็บไข้ บ่มีเงินไว้ ตุ๊กข์ยามชราโซ”  การนำไปใช้       ควรมีคู่ครองไว้ดูแลกันยามป่วยไข้และหนุ่มสาวต้องขยันทำกินเก็บออมเงินไว้ใช้ยามชรา

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “ลำบากตอนหนุ่ม  ดีกว่ากลุ้มตอนแก่”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง “ไม่มีช้อนลำบากตอนอยากน้ำแกง  ไม่มีภรรยาลำบากตอนป่วยไข้ 

ไม่ออมเงินไว้   ลำบากตอนย่างวัยชรา

ลำดับที่  268. “บ่ตันเข้าป่าหันงูเขียว”  อ่าน (-บ่อ-ตัน-เข้า-ป่า-หัน-งู-เขียว-)

หมายถึง.....คนใจเสาะยังไม่ทันได้ลงมือทำก็กลัวจนเกินเหตุ

กำบ่าเก่าจึงว่า    “บ่ตันเข้าป่าหันงูเขียว”          

การนำไปใช้       อย่ากลัวจนเกินเหตุ  ควรพิจารณาด้วยเหตุผล

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “ตีตนก่อนไข้ ///กระต่ายตื่นตูม///ใจปลาซิว ”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “ไม่ทันเข้าป่าเห็นงูเขียว”

 

 

 

 

ลำดับที่  269. “บ่มีหื้อหา  บ่มาหื้อเซาะ”  อ่าน (-บ่อ-มี-หื้อ-หา///บ่อ-มา-หื้อ-เซาะ-)

หมายถึง.....ควรขยันหาเงินมาไว้ใช้จ่ายในปัจจุบัน และเก็บออมไว้เผื่ออนาคตข้างหน้า 

กำบ่าเก่าจึงว่า      “บ่มีหื้อหา  บ่มาหื้อเซาะ”  

การนำไปใช้         หมั่นทำงานหาเงินเก็บออมไว้ใช้ยามจำเป็น

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “ไม่มีเงินให้รีบหา (ขยันทำงาน) ”

ลำดับที่  270. “บ่มีฝอยหมาบ่ขี้   บ่มีหนี้เปิ้นบ่ถาม”

อ่าน   (-บ่อ-มี-ฝอย-หมา-บ่อ-ขี้///บ่อ-มี-หนี้-เปิ้น-บ่อ-ถาม-)

หมายถึง.....เรื่องไม่จริงคงไม่ใครนำมาเล่าขาน  ไม่มีหนี้เขาคงไม่มาทวง

กำบ่าเก่าจึงว่า     “บ่มีฝอย หมาบ่ขี้    บ่มีหนี้   เปิ้นบ่ถาม” 

การนำไปใช้       พิจารณาเรื่องต่างๆที่ได้ฟังมาอาจมีมูลความจริง  และอย่าก่อหนี้

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “ไม่มีมูลฝอยหมาไม่ขี้”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “ไม่มีฝอย  หมาไม่ขี้  ไม่เป็นหนี้  ไม่มีใครทวง”

ลำดับที่  271. “บ่มีมาร   สมปานบ่แก่   ลูกหลานบ่ฟังกำป้อแม่  ยากนักจักได้เป๋นคนดี”

(-บ่อ-มี-มาน/สม-ปาน-บ่อ-แก่/ลูก-หลาน-บ่อ-ฟัง-กำ-ป้อ-แม่/ยาก-นัก-จัก-ได้-เป๋น-คน-ดี-)

หมายถึง.....ลูกที่ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของบิดามารดา   ยากจะได้เป็นคนดี  หรือพบความสำเร็จในชีวิต  

กำบ่าเก่าจึงว่า      “บ่มีมาร    สมปานบ่แก่   ลูกหลานบ่ฟังกำป้อแม่  ยากนักจักได้เป๋นคนดี” 

การนำไปใช้         น้อมรับคำตักเตือนสั่งสอนของบิดามารดาไว้แล้วนำไปสั่งสอนลูกหลานตนต่อไป

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง “ไม่มีมาร(กิเลส/ตัณหา/ราคะ)สมภารไร้บารมี(ไม่บรรลุการบำเพ็ญธรรม)   ลูกไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของบิดามารดา   ยากที่จะพบความเจริญก้าวหน้า”

ลำดับที่  272. “บ่าหินไหลไคลคู้บ่ป้อ  บ่ดีเอาไม้อ้อ   ไปกะหลัดแข้งจ๊าง”

อ่าน  (-บ่า-หิน-ไหล-ไค-คู้-บ่อ-ป้อ///บ่อ-ดี-เอา-ไม้-อ้อ///ไป-กะ-หลัด-แข้ง-จ๊าง-)

หมายถึง.....อย่าแข่งบุญวาสนา  ท้าทายผู้มีอำนาจ หรืออวดรวยแข่งกับเศรษฐีมีเงิน 

กำบ่าเก่าจึงว่า       “บ่าหินไหล ไคลคู้บ่ป้อ บ่ดีเอาไม้อ้อไปกะหลัดแข้งจ๊าง” 

การนำไปใช้         รู้ประมาณตน รู้ความสามารถตนเอง

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “เอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “หินกลิ้งตามน้ำ ตะไคร่ไม่เกาะ  เรื่องที่ไม่เหมาะ   นำต้นอ้อขัดขาช้าง”

 

 

ลำดับที่   273.  “ใบบัวห่อจ๊าง   ต๊างนาซ่อนหอย   เส้นผมบังดอย    ตี้ไหนจักกุ้ม    จักเอาวัตถา 

สิ่งใดหี่หุ้ม ปิดบังควันไฟนั้นไว้” อ่าน (-ใบ-บัว-ห่อ-จ๊าง//ต๊าง-นา-ซ่อน-หอย//เส้น-ผม-บัง-ดอย//ตี้-ไหน-จัก-กุ้ม//จัก-เอา-วัด-ถา//สิ่ง-ใด-หี่-หุ้ม///ปิด-บัง-ควัน-ไฟ-นั้น-ไว้-)

หมายถึง.....ความลับไม่มีในโลก  

กำบ่าเก่าจึงว่า    “ใบบัวห่อจ๊าง  ต๊างนาซ่อนหอย  เส้นผมบังดอย    ตี้ไหนจักกุ้ม  จักเอาวัตถา  สิ่งใดหี่หุ้ม  ปิดบังควันไฟนั้นไว้” 

การนำไปใช้       ทำแต่ความดี  จะได้ไม่ทุกข์ใจที่ต้องปิดบังความลับไว้และเมื่อถูกเปิดเผยเราต้องลำบาก

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง    “ความลับไม่มีในโลก”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “เอาใบบัวห่อช้าง (ห่อไม่มิด)  นำหอยไปซ่อนตรงทางน้ำไหลเข้านา

(หอยย่อมไหลโผล่ออกมา)  เอาเส้นผมไปบังภูเขา  (บังไม่มิด)  แล้วจะนำสิ่งใดเล่า   ไปห่อควันไฟ

ลำดับที่  274. “บาปอยู่ตี้คนจ๋ำ   ก๋ำอยู่ตี้คนสร้าง”

อ่าน  (-บาบ-หยู่-ตี้-คน-จ๋ำ///ก๋ำ-หยู่-ตี้-คน-สร้าง-)

หมายถึง.....บาปตกอยู่กับผู้แนะนำ ผู้กระทำรับกรรมเวร

กำบ่าเก่าจึงว่า     “บาปอยู่ตี้คนจ๋ำก๋ำอยู่ตี้คนสร้าง”     

การนำไปใช้        อย่าสร้างบาปกรรม  หมั่นทำแต่ความดี   มีใจเมตตากรุณา

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “วัวใครเข้าคอกคนนั้น///กงเกวียนกำเกวียน”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง    “บาปตกแก่ผู้สั่งให้ทำ  กรรมอยู่ที่ผู้ลงมือ”

ลำดับที่  275.   “โบราณว่าไว้   เยี๊ยะไฮ่นาขวาย   จั่งเสียแฮงควาย   บ่มูลมั่งข้าว”

อ่านเ  (-โบ-ราน-ว่า-ไว้ ///เยี๊ยะ-ไฮ่-นา-ขวาย///จั่ง-เสีย-แฮง-ควาย///บ่อ-มูน-มั่ง-ข้าว-)

หมายถึง....การทำกิจการในเวลาที่ไม่เหมาะสมตามฤดูกาล ทำให้ไม่ได้รับผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย   กำบ่าเก่าจึงว่า     “โบราณว่าไว้   เยี๊ยะไฮ่นาขวาย   จั่งเสียแฮงควาย  บ่มูลมั่งข้าว”

การนำไปใช้        ทำตามฤดูกาลที่เหมาะสม

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “เสียเวลาเปล่า”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง“ทำนาไม่ต้องตามฤดูกาล  จะเสียแรงควายเปล่าเพราะได้ข้าวน้อย”