ฒ
ลำดับที่ 187. “เฒ่าแก่ค้าว บ่าป๊าวเปลือกหนา เฒ่าแก่ชรา ไผบ่ใคร่ได้”
อ่าน (-เถ้า-แก่-ค้าว///บ่า-ป๊าว-เปลือก-หนา-///เถ้า-แก่-ชะ-รา///ไผ-บ่อ-ใค่-ได้-)
ลำดับที่ 188.“เฒ่าแก่ค้าว ไม้ส้าวล้ำคุ่ม” อ่าน (-เถ้า-แก่-ค้าว///ไม้-ส้าว-ล้ำ-คุ่ม-)
ลำดับที่ 189. “เฒ่าแก่แล้ว ดักแฮ้วบ่หมาน หัวหงอกซุมซาน เยี๊ยะก๋านบ่ได้”
อ่าน (-เถ้า-แก่-แล้ว///ดัก-แฮ้ว-บ่อ-หมาน///หัว-หงอก-ซุม-ซาน///เยี๊ยะ-ก๋าน-บ่อ-ได้-)
ลำดับที่ 190. “เฒ่าแก่ค้าวหงอกยาวขาวผอน กันบ่ต๋ายเมือมรณ์ เอาไว้สอนลูกเต้า”
อ่าน (-เถ้า-แก่-ค้าวหงอก-ยาว-ขาว-ผอน///กัน-บ่อ-ต๋าย-เมือ-มอน///เอา-ไว้-สอน-ลูก-เต้า-)
หมายถึง.....ตอนหนุ่มสาวมีกำลังแข็งแรง ไม่คิดสร้างอนาคต สร้างฐานะครอบครัว มาเริ่มตอนแก่เฒ่า ในยามที่ชราไร้เรี่ยวแรง จะสายเกินไป ส่วนคนแก่ที่มีประสบการณ์ในชีวิตควรให้คำแนะนำกับลูกหลาน กำบ่าเก่าจึงว่า “ เฒ่าแก่ค้าว บ่าป๊าวเปลือกหนา เฒ่าแก่ชรา ไผบ่ใคร่ได้” “เฒ่าแก่ค้าว ไม้ส้าวล้ำคุ่ม” “เฒ่าแก่แล้ว ดักแฮ้วบ่หมาน หัวหงอกซุมซาน เยี๊ยะก๋านบ่ได้” “เฒ่าแก่ค้าว หงอกยาวขาวผอน
กันบ่ต๋ายเมือมรณ์ เอาไว้สอนลูกเต้า”
การนำไปใช้ ขยันสร้างฐานะ สร้างอนาคตตอนหนุ่มสาว อายุมากขึ้นจะเริ่มต้นก็ไม่มีเรี่ยวแรง จะเสียใจ
เทียบสำนวน สุภาษิต คำพังเพย ไทยกลาง “แก่เกินแกง”
เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง “อายุมากเหมือนมะพร้าวเปลือกหนา แก่ชรา ไม่มีคนสนใจ”
เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง “ชราเลยวัย อีกไม้สูงกว่าพุ่ม (ใช้สอยผลไม้ไม่ได้) ไม่มีประโยชน์”
เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง “ชรามากแล้ว ดักแร้วไร้โชค ป่วยไข้หลายโรค ไร้ซึ่งเรี่ยวแรง”
เทียบสำนวน สุภาษิต คำพังเพย ไทยกลาง “ชราผมขาว มากหลายเรื่องราว ไว้สอนลูกหลาน”
ลำดับที่ 191. “เฒ่าแก่แล้วบ่ต้องไผสอน ไม้ขอนนอนมันตึงบ่ตั้ง”
อ่าน (-เถ้า-แก่-แล้ว-บ่อ-ต้อง-ไผ-สอน///ไม้-ขอน-นอน-มัน-ตึง-บ่อ-ตั้ง-)
หมายถึง.....การให้คำแนะนำกับผู้สูงอายุเป็นเรื่องลำบากใจเพราะท่านอาจไม่สนใจรับฟัง
กำบ่าเก่าจึงว่า “เฒ่าแก่แล้วบ่ต้องไผสอน ไม้ขอนนอนมันตึงบ่ตั้ง”
การนำไปใช้ เตรียมทำใจไว้บ้าง เวลาให้คำแนะนำแก่ผู้สูงอายุแล้วไม่ได้รับความร่วมมือ
เทียบสำนวน สุภาษิต คำพังเพย ไทยกลาง “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก”
เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง “อายุมากแล้ว ใครอย่ามาสอน ต้นไม้ล้มนอน ยากตั้งได้เอง”