ลำดับที่  468.  “เอาจิ๊นซ่อนแมวอย่าเอาห้อยฝา    เอาจิ๊นซ่อนหมาอย่าเอาไว้ต่ำ”

อ่าน  (-เอา-จิ๊น-ซ่อน-แมว-หย่า-เอา-ห้อย-ฝา///เอา-จิ๊น-ซ่อน-หมา-หย่า-เอา-ไว้-ต่ำ-)

หมายถึง.....การเก็บรักษาอาหารหรือทรัพย์สินของครอบครัวควรเก็บไว้ในที่ปลอดภัย   

กำบ่าเก่าจึงว่า     “เอาจิ๊นซ่อนแมวอย่าเอาห้อยฝา    เอาจิ๊นซ่อนหมาอย่าเอาไว้ต่ำ” 

การนำไปใช้       รู้รักษาทรัพย์สมบัติของครอบครัว อย่าให้ล่อหูล่อตาขโมย

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง    “”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “เอาเนื้อซ่อนแมว  อย่าห้อยข้างฝา  เก็บเนื้อซ่อนหมาอย่าไว้ต่ำ

ลำดับที่  469. เอาดีบ่ได้เอาได้บ่ดี 

อ่าน   (-เอา-ดี-บ่อ-ได้-เอา-ได้-บ่อ-ดี-)

หมายถึง.....ไม่สำเร็จตามที่คาดหวังไว้  หรือไม่ได้ดังใจปรารถนา อาจเป็นเพราะความใจร้อนเกินไป

กำบ่าเก่าจึงว่า     “เอาดีบ่ได้เอาได้บ่ดี  ”        การนำไปใช้        อย่าใจร้อน  ต้องใจเย็นๆ

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง    “เอาดีไม่ได้  เอาได้ไม่ดี”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “ที่ดีไม่ได้  ที่ได้ไม่ดี”

ลำดับที่  470. “เอาลูกเปิ้นมาเลี้ยง  เอาเมี่ยงเปิ้นมาอม”

อ่าน  (-เอา-ลูก-เปิ้น-มา-เลี้ยง///เอา-เมี่ยง-เปิ้น-มา-อม-)

หมายถึง.....รับภาระแทนผู้อื่น เมื่อไม่ได้ตามใจตน  จะแก้ไขหรือตักเตือนก็ทำไม่ได้เต็มที่

กำบ่าเก่าจึงว่า     “เอาลูกเปิ้นมาเลี้ยง  เอาเมี่ยงเปิ้นมาอม”   

การนำไปใช้        คิดให้ดีก่อนรับอาสา  ดีกว่ามาลำบากใจทีหลัง

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง    “เอาลูกเขามาเลี้ยง  เอาเมี่ยงเขามาอม”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง    “เอาลูกเขามาเลี้ยง  เอาเมี่ยงเขามาอม”

ลำดับที่  471. “เอาปากไปจู    เอาฮูไปใส่”

อ่าน  (-เอา-ปาก-ไป-จู///เอา-ฮู-ไป-ใส่-)

หมายถึง..... คนเห็นแก่ตัว ตอนทำงานไม่ช่วยทำ  พอเสร็จงานรีบมาเสนอหน้ารับความดีความชอบ         

กำบ่าเก่าจึงว่า    “เอาปากไปจูเอา ฮูไปใส่”  

การนำไปใช้      อย่าเห็นแก่ตัวให้ช่วยทำงาน อย่ารอรับแต่ความชอบ

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง    “ตั้งท่ารอ”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “เอาปากไปถึงที่ตั้งท่ารอรับ”

ลำดับที่  472. “อู้ฮื้อเปิ้นฮัก  ยากนักจักหวัง  อู้หื้อเปิ้นจัง  กำเดียวก็ได้”

อ่าน  (-อู้-หื้อ-เปิ้น-ฮัก///ยาก-นัก-จัก-หวัง///อู้-หื้อ-เปิ้น-จัง///กำ-เดียว-ก่อ-ได้-)

หมายถึง.....พูดให้คนรักชอบนั้นเป็นเรื่องยาก  พูดให้คนเกลียดชังนั้นช่างง่ายดาย

กำบ่าเก่าจึงว่า      “อู้ฮื้อเปิ้นฮัก  ยากนักจักหวัง  อู้หื้อเปิ้นจังกำเดียวก็ได้”  

การนำไปใช้         ให้พูดจาไพเราะกับทุกคน

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง    “พูดดีเป็นศรีแก่ปาก”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “พูดให้คนรัก ยากที่จะหวัง  พูดให้เกลียดชัง  คำเดียวได้เรื่อง

ลำดับที่  473. “อ้นก็บ่เป๋น  เหนก็บ่ใจ้”   อ่าน  (-อ้น-ก่อ-บ่อ-เป๋น///เห็น-ก่อ-บ่อ-ใจ้-)

หมายถึง.....ไม่ปรากฎความชำนาญ   ความช่ำชองด้านใดด้านหนึ่งอย่างจริงจังชัดเจน  

กำบ่าเก่าจึงว่า   “อ้นก็บ่เป๋น เห็นก็บ่ใจ้”   

การนำไปใช้      การใช้คนควรดูความถนัดก่อนมอบหมายงาน

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง    “”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “อ้นก็ไม่ใช่  ชะมดก็ไม่ใช่”

ลำดับที่  474. “อาบน้ำไหนสีไคลหั้น”  อ่าน (-อาบ-น้ำ-ไหน-สี-ไค-หั้น-)

หมายถึง…..คนเราทำอะไรย่อมมีผลพลอยได้ตามมา   มีการเผื่อแผ่ให้  

กำบ่าเก่าจึงว่า     “อาบน้ำไหนสีไคลหั้น”  

การนำไปใช้      เราจ้างคนมาทำงาน  เราจ่ายค่าแรงให้แล้วอาจเผื่อแผ่ด้วยการเลี้ยงอาหาร ซึ่งคนงานบางคนอาจไม่นำอาหารมาด้วย  โดยถือว่าเมื่อมาทำงานให้คงจะได้รับการดูแลในเรื่องอาหารไปโดยปริยาย

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง    “”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง    “อาบน้ำที่ใด  ย่อมขัดขี้ไคลที่นั่น”

 

 

 

ลำดับที่  475.  “ออกออคน   เปิ้นบ่ใจ้มีไว้แอ็บ   เหมือนออกอองัว   ออกออควาย”

อ่าน  (-ออก-ออ-คน///เปิ้น-บ่อ-ใจ้-มี-ไว้-แอ็บ///เหมือน-ออก-ออ-งัว///ออก-ออ-ควาย-)

หมายถึง.....สมองมีไว้คิด  กำบ่าเก่าจึงว่า “ออกออคนเปิ้นบ่ใจ้มีไว้แอ็บ เหมือนออกอองัวออกออควาย” 

การนำไปใช้    ใช้สมองในการคิดก่อนทำ  อย่าใช้แต่แรงทำงาน

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง    “คิดก่อนทำ”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “สมองคนไม่ได้เอาไว้หมกทาน   เหมือนสมองวัวควาย”

ลำดับที่  476. อึ่งกับเม่า    จิ๊นเน่ากับหนอน    งูกับปังปอน    ไว้ใจ๋บ่ได้

อ่าน  (-อึ่ง-กับ-เม่า///จิ๊น-เน่า-กับ-หนอน///งู-กับ-ปัง-ปอน///ไว้-ใจ๋-บ่อ-ได้-)

หมายถึง.....สภาพที่เอื้อให้เกิดเหตุได้ง่ายดาย อาจเป็นอันตราย เกิดความเสียหาย  เพราะมาอยู่ใกล้ชิดกัน

กำบ่าเก่าจึงว่า    “อึ่งกับเม่า  จิ๊นเน่ากับหนอน  งูกับปังปอน  ไว้ใจ๋บ่ได้”  

การนำไปใช้       ป้องกันดีกว่าแก้ไข  อาทิ  หญิงใกล้ชาย  สนิทสนมใกล้ชิดเกินไป หญิงอาจพลาดท่าให้ชาย

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “น้ำตาลใกล้มด”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง อึ่งอ่างกับแมลงเม่า เนื้อเน่ากับหนอน  งูเห่ากับพังพอน  ไว้วางใจไม่ได้  ”

ลำดับที่  477.  อดส้มได้กิ๋นหวาน  อดสานได้ซ้า 

อ่าน  (-อด-ส้ม-ได้-กิ๋น-หวาน/// อด-สาน-ได้-ซ้า-)

หมายถึง.....มีความอดทน   มีความเพียรพยายามย่อมทำให้พบความสำเร็จในชีวิต

กำบ่าเก่าจึงว่า      “อดส้มได้กิ๋นหวาน   อดสานได้ซ้า”  

การนำไปใช้        ต้องมีความอดทนเพียรพยายาม

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง    “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “อดเปรี้ยวได้ทานหวาน  ทนจักสานได้ตะกร้า

ลำดับที่  478. “อู้กับคนง่าว เหมือนผ่าไม้ต๋ำต๋า  อู้คนมีผะหยา  เหมือนผ่าไม้โล่งข้อ”

อ่าน ( -อู้-กับ-คน-ง่าว///เหมือน-ผ่า-ไม้-ต๋ำ-ต๋า///อู้-คน-มี-ผะ-หยา///เหมือน-ผ่า-ไม้-โล่ง-ข้อ-)

หมายถึง.....คนฉลาดจะรับรู้  มีความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ ได้ง่ายกว่าคนรู้น้อย 

กำบ่าเก่าจึงว่า      “อู้กับคนง่าว เหมือนผ่าไม้ต๋ำต๋า  อู้คนมีผะหยา  เหมือนผ่าไม้โล่งข้อ”

การนำไปใช้        ถ้ามีปัญหาให้แก้ไขควรปรึกษาผู้รู้  จะได้ไม่เสียเวลา

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “ปัญญารู้ด้วยการสนทนา”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “คุยกับคนโง่เหมือนผ่าไม้ไปโดนตาไม้ (แข็งผ่ายาก..คือกว่าจะคุยกันรู้เรื่องก็ใช้เวลานานหรือไม่รู้เรื่องเลย)  คุยกับคนฉลาดเหมือนผ่าไม้ตลอดปล้อง (ผ่าง่าย....เข้าใจกันง่าย)”

 

 

ลำดับที่  479.  อดได้เป๋นยา  มีผะหญาแป๊เปิ้น 

อ่าน  (-อด-ได้-เป๋น-ยา///มี-ผะ-หยา-แป๊-เปิ้น-)

หมายถึง.....ผู้ที่มีสติปัญญา มีความฉลาดรอบรู้ ย่อมหาแนวทางในการแก้ปัญหาได้

กำบ่าเก่าจึงว่า     “อดได้เป๋นยา  มีผะหญาแป๊เปิ้น  ”   

การนำไปใช้        หมั่นศึกษาหาความรู้ 

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง    “ความดีชนะทุกคน  เหตุผลชนะทุกอย่าง”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “อดทนเป็นดังยา(มีคุณต่อตนเอง)  มีปัญญาแก้ปัญหาได้”

ลำดับที่  480. “อยู่หื้อเปิ้นอาลัย   ไปหื้อเปิ้นกึ๊ดเติงหา”

อ่าน  (-หยู่-หื้อ-เปิ้น-อา-ไล///ไป-หื้อ-เปิ้น-กึ๊ด-เติง-หา-)

หมายถึง….การทำความดีอย่างสม่ำเสมอโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนย่อมเป็นที่รักชอบของคนอื่น  เมื่อเราไปอยู่ที่อื่น  ความดีของเราจะทำให้ผู้คนคิดถึง

กำบ่าเก่าจึงว่า    “อยู่หื้อเปิ้นอาลัย ไปหื้อเปิ้นกึ๊ดเติงหา”             

การนำไปใช้       ให้ทำความดีช่วยเหลือสังคม

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง    “อยู่ให้เขารักจากให้เขาอาลัย”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “อยู่ให้เขาอาลัย  ไปให้เขาคิดถึง  ”

ลำดับที่  481. อยู่ดงป่าไม้    จะไปต๊าเสือ  อยู่ยังแปเฮือ  จะไปต๊าเงือก

อ่าน  (-หยู่-ดง-ป่า-ไม้///จะ-ไป-ต๊า-เสือ///อยู่-ยัง-แป-เฮือ///จะ-ไป-ต๊า-เงือก-)

หมายถึง....ระวังการพูดจาในทุกสถานที่   

กำบ่าเก่าจึงว่า      “อยู่ดงป่าไม้จะไปต๊าเสือ   อยู่ยังแปเฮือจะไปต๊าเงือก” 

การนำไปใช้       ไม่ว่าจะอยู่สถานที่ใดควรสำรวมในกริยามารยาท   การพูดจาต้องสุภาพ

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “พูดดีเป็นศรีแก่ปาก

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง อยู่ป่าอย่าท้าเสือ  อยู่บนแพเรือ    อย่าท้าทายผีพรายน้ำ

ลำดับที่  482. อย่ากิ๋นซ้ำย้ำเสี้ยง

อ่าน  (-หย่า-กิ๋น-ซ้ำ-ย้ำ-เสี้ยง-)

หมายถึง.....อย่ากินล้างกินผลาญ    

กำบ่าเก่าจึงว่า     “อย่ากิ๋นซ้ำย้ำเสี้ยง”

การนำไปใช้       รู้จักการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ตามฐานะของตนเอง

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “กินล้างกินผลาญ  ” 

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “อย่ากินล้างกินผลาญ  ”

ลำดับที่  483. “อย่าคบคนเมา   อย่าเก๋าคนบ้า    อย่าฆ่าของเลี้ยง  อย่าเถียงกำเจ้า   อย่ากิ๋นข้าวซากผี    อย่าผิดฝูงเจียงจีและนักบวช    อย่าใส่โต้ดผู้มีคุณ”

อ่าน  (-หย่า-คบ-คน-เมา///หย่า-เก๋า-คน-บ้า///หย่า-ข้า-ของ-เลี้ยง//หย่า-เถียง-กำ-เจ้า///

หย่า-กิ๋น-ข้าว-ซาก-ผี///หย่า-ผิด-ฝูง-เจียง-จี-และ-นัก-บวด///หย่า-ใส่-โต้ด-ผู้-มี-คุน-)

หมายถึง….ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับคนพาล และระวังกาย วาจา ใจ   ในการปฏิบัติกับผู้ทรงศีลและผู้มีพระคุณ

กำบ่าเก่าจึงว่า     “อย่าคบคนเมา   อย่าเก๋าคนบ้า   อย่าฆ่าของเลี้ยง   อย่าเถียงกำเจ้า  อย่ากิ๋นข้าวซากผี    

อย่าผิดฝูงเจียงจีและนักบวช   อย่าใส่โต้ดผู้มีคุณ” 

การนำไปใช้       ระวังกาย  วาจา  ใจ ตัวเองไว้ให้ดีอย่าให้ไปทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่น

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “อย่าถือคนบ้า  อย่าว่าคนเมา”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “อย่าคบคนเมา  อย่ายุ่งเกี่ยวกับคนบ้า  อย่าฆ่าสัตว์ลี้ยง   อย่าเถียงเจ้านาย 

อย่ากินข้าวเซ่นผี   อย่าละเมิดพระสงฆ์และชี   อย่าใส่ร้ายผู้มีพระคุณ”

ลำดับที่  484.  “อย่าจ่ายเงินก่อนหาได้  บ่เป๋นไข้อย่าหาหมอมาทาย”

อ่าน (-หย่า-จ่าย-เงิน-ก่อน-หา-ได้///บ่อ-เป๋น-ไข้-หย่า-หา-หมอ-มา-ทาย-)

หมายถึง..... อย่ากู้เงินคนอื่นมาใช้จ่าย ไม่ป่วยไข้อย่าหาหมอดูมาทำนายทายทัก 

กำบ่าเก่าจึงว่า       “อย่าจ่ายเงินก่อนหาได้    บ่เป๋นไข้อย่าหาหมอมาทาย” 

การนำไปใช้         ใช้จ่ายเท่าที่มี  และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “การก่อหนี้เป็นทุกข์ในโลก”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “อย่าจ่ายเงินก่อนหามาได้ ไม่ป่วยไข้อย่าหาหมอดูมาทำนาย

(สมัยก่อนการสาธารณสุขยังไม่เจริญ ถ้าป่วยจะไปหาหมอดูมาทำนายว่าทำไมจึงป่วย อาจเป็นเพราะไปดูหมิ่นเจ้าที่เจ้าทาง  ต้องทำการเลี้ยงดูเจ้าที่เพื่อเป็นการขอขมาจึงจะหายเจ็บป่วย ” 

ลำดับที่  485.  “อย่านั่งถ้าก๋าน   อย่าหื้อเปิ้นวานเปิ้นใจ้    อย่านอนถ้าไข้”

อ่าน  (-หย่า-นั่ง-ถ้า-ก๋าน///หย่า-หื้อ-เปิ้น-วาน-เปิ้น-ใจ้///หย่า-นอน-ถ้า-ไข้-)

ลำดับที่  486. “อย่าเอามือเต๊าแอว   ผ่อเปิ้นเยี๊ยะก๋าน   อย่าหาญปากสวก    อย่าอวดตั๋วดี  

อย่าควีจาวหมู่   อย่าอยู่บ่าดาย

อ่าน   (-หย่า-เอา-มือ-เต๊า-แอว///ผ่อ-เปิ้น-เยี๊ยะ-ก๋าน///หย่า-หาน-ปาก-สวก///หย่า-อวด-ตั๋ว-ดี///

หย่า-คี-จาว-หมู่///หย่า-หยู่-บ่า-ดาย-)

 

 

 

ลำดับที่ 487.  อย่าหยุบของเปิ้นเล่น   อย่าเต้นหื้อเปิ้นหันลาย   อย่าต๊าตายนักปราชญ์   

อย่าประมาทผู้มีศีลอ่าน  (-หย่า-หยุบ-ของ-เปิ้น-เล่น///หย่า-เต้น-หื้อ-เปิ้น-หัน-ลาย///หย่า-ต๊า-ตาย-นัก-ปาด///หย่า-ปะ-หมาด-ผู้-มี-สีน-)

หมายถึง..... อย่าเห็นแก่ตัว ไม่นั่งรองานควรขยันหางานมาทำ  อย่าเขาวานก่อนจึงค่อยทำเป็นการไม่สมควร ควรมีมารยาทที่ดีงามงาม  รู้ระมัดระวัง  กาย  วาจา  และใจ  ไม่ล่วงเกินผู้อาวุโสหรือผู้มีความรู้ ตลอดจนพระสงฆ์ผู้ทรงศีล  รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

กำบ่าเก่าจึงว่า      “อย่านั่งถ้าก๋าน   อย่าหื้อเปิ้นวานเปิ้นใจ้   อย่านอนถ้าไข้” 

“อย่าเอามือเต๊าแอว   ผ่อเปิ้นเยี๊ยะก๋าน  อย่าหาญปากสวก  อย่าอวดตั๋วดี    อย่าควีจาวหมู่   อย่าอยู่บ่าดาย”  

“อย่าหยุบของเปิ้นเล่น   อย่าเต้นหื้อเปิ้นหันลาย    อย่าต๊าตายนักปราชญ์   อย่าประมาทผู้มีศีล”

 การนำไปใช้       มีความกระตือรือร้นในการดำเนินชีวิต  รู้สำรวม กาย  วาจา  ใจ ทำตัวถูกกาลเทศะ

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง  “อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย  ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “อย่านั่งรองาน  อย่าให้เขาวานเขาใช้  อย่านอนรอไข้”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “ควรช่วยเหลือกันทำงาน อย่าพูดจาก้าวร้าว  อย่ายกตนข่มท่าน 

อย่ายุแหย่เพื่อนฝูงญาติมิตรให้แตกแยกหรือเดือดร้อน   และอย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างไร้ค่า  ”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “อย่ายุ่งกับทรัพย์สินผู้อื่น อย่าทำตัวน่าเกลียด  อย่าหลบหลู่ผู้รู้ผู้ทรงศีล”

ลำดับที่  488. อย่าต่อไม้ตางปล๋าย  อย่าจู๋งควายไปตางหน้า  อย่าอวดเก่งกล้าเมื่อหัวที

อ่าน  (-หย่า-ต่อ-ไม้-ตาง-ป๋าย///หย่า-จู๋ง-ควาย-ไป-ตาง-หน้า///หย่า-อวด-เก่ง-ก้า-เมื่อ-หัว-ที-)

หมายถึง…..อย่าอวดเก่ง อวดกล้าเฉพาะตอนเริ่มต้น ควรทำให้ตลอดรอดฝั่ง ไม่ละทิ้งไว้

กำบ่าเก่าจึงว่า    “อย่าต่อไม้ตางปล๋าย  อย่าจูงควายไปตางหน้า  อย่าอวดเก่งกล้าเมื่อหัวที”    

การนำไปใช้       อย่าอวดเก่ง

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “ท่าดีทีเหลว” 

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “อย่าต่อไม้ทางปลาย จูงควายอย่านำหน้า อย่าเก่งกล้าเฉพาะตอนเริ่มต้น”

ลำดับที่  489. อย่าเลี้ยงไก่วงศา  อย่าเลี้ยงหมาปี้น้อง

อ่าน  (-หย่า-เลี้ยง-ไก่-วง-สา///หย่า-เลี้ยง-หมา-ปี้-น้อง-)

หมายถึง.....อย่าเข้าไปยุ่งกับเรื่องผลประโยชน์เงินทองในหมู่ญาติพี่น้อง เพราะอาจมีความขัดแย้งได้

กำบ่าเก่าจึงว่า    “อย่าเลี้ยงไก่วงศา  อย่าเลี้ยงหมาปี้น้อง”   

การนำไปใช้       ระวังเรื่องผลประโยชน์

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “” 

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “อย่านำไก่หรือสุนัขของญาติมาเลี้ยง”(จะผิดใจกันได้)

 

ลำดับที่  490. อย่าใจ้คนบ้าตี๋กำ  อย่าฟังกำละอ่อน

อ่าน  (-หย่า-ใจ้-คน-บ้า-ตี๋-กำ///หย่า-ฟัง-กำ-ละ-อ่อน-)

หมายถึง.....อย่าใช้งานผู้ที่ไม่เข้าใจคำสั่ง  ทำให้เกิดความเสียหายได้ และอย่าเชื่อคำพูดเด็กเล็กมากเกินไป

กำบ่าเก่าจึงว่า    “อย่าใจ้คนบ้าตี๋กำ  อย่าฟังกำละอ่อน”

การนำไปใช้       การใช้งานคนควรอธิบายให้เข้าใจ หรือเลือกใช้คนที่สั่งแล้วเข้าใจง่าย

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “” 

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “อย่าใช้คนบ้าตีความ  อย่าเชื่อตามคำเด็กบอก”

ลำดับที่  491. อย่าดูหมิ่นเจ้า    อย่าเล่าขวัญนาย    อย่าขายของฝาก    อย่าปากบ่เป๋นธรรม

อ่าน  (-หย่า-ดู-หมิ่น-เจ้า///หย่า-เล่า-ขวัน-นาย///หย่า-ขาย-ของ-ฝาก///หย่า-ปาก-บ่อ-เป๋น-ทำ-)

หมายถึง…..การระวังกาย   วาจา   ใจ ไม่ให้ล่วงเกินผู้อื่น

กำบ่าเก่าจึงว่า     “อย่าดูหมิ่นเจ้า   อย่าเล่าขวัญนาย    อย่าขายของฝาก    อย่าปากบ่เป๋นธรรม”    

การนำไปใช้       ระวังกาย วาจา  ใจ   ไม่ให้ไปก่อความเดือดร้อนกับผู้อื่น

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง    “พูดดีเป็นศรีแก่ปาก”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “อย่าหมิ่นผู้สูงศักดิ์ อย่านินทานาย อย่าขายของฝาก  พูดดีมีคุณธรรม

ลำดับที่  492. “อย่าฮู้ก่อนหมอ  อย่าซอก่อนปี่”

อ่าน(-หย่า-ฮู้-ก่อน-หมอ///หย่า-ซอ-ก่อน-ปี่-)

หมายถึง.....อย่าเป็นคนอวดเก่ง อวดรู้   อวดฉลาด 

กำบ่าเก่าจึงว่า    “อย่าฮู้ก่อนหมอ  อย่าซอก่อนปี่”   

การนำไปใช้        อย่าอวดรู้อวดฉลาด  

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง    “ยกตนข่มท่าน”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “อย่าอวดรู้ก่อนหมอ(ดูดวง)  อย่าขับลำนำซอก่อนจะเป่าปี่ 

ลำดับที่  493. อ้อยกับจ๊าง  แม่ฮ้างกับหนาน  ส้มกับแม่มาน  หวานกับคนเฒ่า

อ่าน   (-อ้อย-กับ-จ๊าง///แม่-ฮ้าง-กับ-หนาน///ส้ม-กับ-แม่-มาน///หวาน-กับ-คน-เถ้า-)

หมายถึง.....ของคู่กัน  มีความเหมาะสมกัน  เข้ากันได้ดี 

กำบ่าเก่าจึงว่า    “อ้อยกับจ๊าง แม่ฮ้างกับหนาน  ส้มกับแม่มาน  หวานกับคนเฒ่า”   

การนำไปใช้      มีความเข้าใจในความสัมพันธ์และควรชื่นชมยินดี

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง    “คู่สร้างคู่สม//กิ่งทองใบหยก”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง   “ อ้อยกับช้าง   แม่ร้างกับทิด  ผลไม้รสเปรี้ยวกับหญิงมีครรภ์  และคนแก่กับรสหวาน  เป็นของคู่กัน”

 

ลำดับที่  494. อ้อยต้าวล้ม  บ่ส้มก็จ๋าง  คนผลาญเงินไผบ่ใคร่อู้

อ่าน  (-อ้อย-ต้าว-ล้ม-บ่อ-ส้ม-ก่อ-จ๋าง///คน-ผาน-เงิน-ไผ-บ่อ-ใค่-อู้-)

หมายถึง..... คนฟุ่มเฟือย  สุรุ่ยสุร่าย ใช้จ่ายเงินทองในสิ่งที่ไม่จำเป็น  ย่อมไม่มีคนคบหา

กำบ่าเก่าจึงว่า      “อ้อยต่าวล้ม  บ่ส้มก็จ๋าง  คนผลาญเงินไผบ่ใคร่อู้”    

การนำไปใช้        รู้รักษาทรัพย์ที่หามาได้

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “” 

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง “อ้อยโค่นลงพื้น รสไม่เปรี้ยวก็จืด คนผลาญเงินทองไม่มีใครพูดด้วย”

ลำดับที่  495. “ฮ่อมหนู  หนูไต่   ฮ่อมไหน่  ไหน่เตียว”

อ่าน (-ฮ่อม-หนู-หนู-ไต่///ฮ่อม-ไหน่-ไหน่-เตียว-)

หมายถึง...ความถนัดช่ำชอง ความชำนาญในอาชีพที่ใช้หาเลี้ยงตัวเองของแต่ละคน ย่อมแตกต่างกัน      

อย่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวโดยคิดว่าตนฉลาดที่สุด 

กำบ่าเก่าจึงว่า     “ฮ่อมหนู  หนูไต่   ฮ่อมไหน่  ไหน่เตียว”  

การนำไปใช้        อย่าก้าวก่าย  ล่วงเกิน  ดูถูก ความชำนาญของผู้อื่น  หรือคิดว่าตนเองมีความถนัดทุกอย่าง

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “สิบรู้ไม่เท่าชำนาญ”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “ทางเดินหนู  หนูไต่  ทางเดินไหน่ ไหน่เดิน”

ลำดับที่  496. “ฮักเบื้องย่ำแคม”   อ่าน  (-ฮัก-เบื้อง-ย่ำ-แคม-)

หมายถึง.....ได้รับความรักความเมตตาไม่เท่ากัน ไม่มีความยุติธรรม 

 กำบ่าเก่าจึงว่า     “ฮักเบื้องย่ำแคม”          

การนำไปใช้        มีความเป็นกลาง  ให้ความรัก  ความเมตตา มีความยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย อย่าลำเอียง

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “เลือกที่รักมักที่ชัง”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “รักข้างเหยียบย่ำอีกข้าง”

ลำดับที่  497. “ฮักปี้เสียดายน้อง” 

อ่าน (-ฮัก-ปี้-เสีย-ดาย-น้อง-)

หมายถึง.....ไม่รู้จะตัดสินใจเลือกฝ่ายไหนดี   

กำบ่าเก่าจึงว่า       “ฮักปี้เสียดายน้อง”  

การนำไปใช้          ควรตัดสินใจให้แน่นอน  มัวสองจิตสองใจ  อาจชวดทั้งสองฝ่าย

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “รักพี่เสียดายน้อง///จับปลาสองมือ///สองจิตสองใจ”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “รักพี่เสียดายน้อง”

 

 

ลำดับที่  498. “ฮ้ายก่อนดีลูน”  อ่าน  (-ฮ้าย-ก่อน-ดี-ลูน-)

หมายถึง.... เรื่องร้ายๆในตอนเริ่มต้นอาจกลายเป็นเรื่องดีในภายหลัง   ลำบากตอนแรกตอนหลังสบาย

กำบ่าเก่าจึงว่า     “ ฮ้ายก่อน ดีลูน ”

การนำไปใช้        หันหน้าสู้  อุปสรรคต่างๆด้วยความอดทน เมื่อผ่านพ้นจะได้ดี

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “ฟ้าหลังฝน///ต้นร้ายปลายดี”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “ร้ายก่อนดีทีหลัง” 

ลำดับที่  499. “ฮู้วันเกิด   บ่ฮู้วันต๋าย   ลางวันเป็นนาย  ลางวันเป๋นข้า”

อ่าน  (-ฮู้-วัน-เกิด///บ่อ-ฮู้-วัน-ต๋าย///ลาง-วัน-เป๋น-นาย///ลาง-วัน-เป๋น-ข้า-)

หมายถึง…..ความไม่แน่นอนของชะตาชีวิต รู้วันเกิดไม่รู้วันตาย  บางครั้งเป็นนาย คราวดวงตกเป็นขี้ข้า 

กำบ่าเก่าจึงว่า    “ฮู้วันเกิดบ่ฮู้วันต๋าย ลางวันเป็นนายลางวันเป๋นข้า”  

การนำไปใช้        อย่าดูถูกคนจน  สักวันเขาอาจร่ำรวย  ให้ทำความดี  จะหมดลมหายใจเมื่อไรก็ไม่รู้

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “รู้วันเกิด  ไม่รู้วันตาย บางครั้งเป็นนายบางคราเป็นขี้ข้า”

ลำดับที่  500. “แฮงคนอยู่ตี้น้ำลาย  แฮงควายอยู่ตี้แม่น้ำ”

อ่าน (-แฮง-คน-หยู่-ตี้-น้ำ-ลาย///แฮง-ควาย-หยู่-ตี้-แม่-น้ำ-)

หมายถึง.....การใช้วาจาที่ไพเราะเสนาะหู  จะโน้มน้าวจิตใจคนให้ทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ   

กำบ่าเก่าจึงว่า    “แฮงคนอยู่ตี้น้ำลาย  แฮงควายอยู่ตี้แม่น้ำ”       

การนำไปใช้      ใช้คำพูดจูงใจให้เขารู้สึกว่าไม่มีใครบังคับให้ทำ    เขาจะทำงานด้วยความเต็มใจ

เทียบสำนวน  สุภาษิต  คำพังเพย ไทยกลาง   “”

เทียบเคียงกำบ่าเก่า-คำไทยกลาง  “แรงคนอยู่ที่น้ำลาย  แรงควายอยู่ที่ลำน้ำ”  (น้ำลายหมายถึงคำพูด  ส่วนควายเมื่อได้ลงไปในลำคลอง จะมีความสดชื่นมีกำลังในการทำงานมากขึ้น)